User: มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
Date posted: Sat, 09 Nov 2019 13:00:00 GMT
นอกพระนครด้านทิศใต้
ย่านจัดสรรที่ดินรุ่นแรกและชุมชนนานาชาติ
.
บริเวณใกล้ปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านใต้ของพระนครเป็นบริเวณที่ต่อกับวัดกาลหว่าร์และปากซอยสำเพ็งและตลาดน้อย ซึ่งเคยเป็นย่านท่าเรือขนส่งสินค้าและคลังสินค้ามาตั้งแต่ต้นกรุงฯ ฝั่งด้านนอกนั้นเป็นสถานที่ของ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน ในปัจจุบัน แต่เดิมคือที่ตั้งของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “วัดแก้วแจ่มฟ้า” ซึ่งเคยอยู่ระหว่างถนนเจริญกรุงและแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นพื้นที่ท่ามกลางแหล่งที่พักอาศัยของชา...วตะวันตกล้อมรอบ จนทำให้พระสงฆ์ไม่สามารถบิณฑบาตรและปฎิบัติศาสนกิจได้สะดวก อีกทั้งชาวตะวันตกยื่นเรื่องให้กงสุลของตนร้องทุกข์่ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะทนเหม็นกลิ่นศพจากการไม่ไหวในยุคหนึ่ง กรมนครบาลจึงต้องห้ามการเผาศพ เป็นเหตุให้ต้องทำ “ผาติกรรม” ย้ายวัดไปอยู่อยู่ริมถนนสี่พระยาลึกเข้ามาภายในและห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งในปัจจุบัน ส่วนพื้นที่เดิมก็ใช้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจต่างๆ
.
บริเวณนี้มีการตัดถนนสี่พระยาในราว พ.ศ. ๒๔๓๐ เป็นต้นมา ช่วงนั้นขุนนางหลายท่านได้กว้านซื้อที่ดินชานเมืองเพื่อแบ่งขายและเพื่อให้ที่ดินได้ราคาดีจึงต้องตัดถนนผ่านที่ดิน เช่น “หลวงสาธรราชายุกติ” ตัด “ถนนสาธร” “เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์” ตัด “ถนนสุรวงศ์” และ “ถนนเดโช” เป็นต้น ซึ่งเชื่อมกับ “ถนนตรง” หรือถนนพระราม ๔ โดยเป็นเจ้าพระยาท่านหนึ่งและพระยาอีก ๓ ท่าน ได้แก่ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองหรือเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว. ลพ สุทัศน์) พระยาพิพัฒน์โกษา (หลุยส์ ซาเวียร์) พระยาสุนทรพิมล (เผล่ วสุวัตร) และพระยานรนารภภักดี (เอม ณ มหาชัย) ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ร่วมทุนกันกว้านซื้อที่สวนระหว่างถนนสุรวงศ์กับคลองผดุงกรุงเกษมและตัดถนนผ่านที่นั้น ต่อมาจึงน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นถนนหลวง โปรดพระราชทานนามให้มีนัยเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ตัดถนนสายนี้คือ “ถนนสี่พระยา” จนทำให้ย่านสาธร-สีลม สุรวงศ์ และสี่พระยามีการขยายพื้นที่อยู่อาศัยของขุนนาง คหบดีรุ่นใหม่ และวังเจ้านายที่นิยมอากาศดีและสามารถเดินทางติดต่อกับทางพระนครได้สะดวก จึงนับเป็นย่านที่พักอาศัยของคหบดีและย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ครั้งนั้น
.
“ถนนสีลม” หรือ “ถนนขวาง” อยู่ทางใต้ของพระนคร ใกล้กับย่านกงสุลของชาติตะวันตกที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นคันดินที่เกิดจากการขุดคลองเพื่อเชื่อมคลองบางรักกับคลองถนนตรง คันดินจึงกลายเป็นถนน บริเวณโดยรอบเป็นทุ่งนาโล่งและเป็นชาวบ้านแต่เดิมอยู่อาศัยทั้งชาวไทย ชาวทวายและชาวลาวที่ถูกอพยพมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงฯ ต่อมามีชาวตะวันตกนำเครื่องสีลมวิดน้ำเห็นโดดเด่น จึงเรียกว่า “ถนนสีลม” ในภายหลัง และกลายเป็นย่านบ้านพักแบบจัดสรรที่ดินและแบ่งขายให้กับขุนนางข้าราชการชุดต่างๆ และชาวต่างชาติที่เป็นที่ปรึกษาในกิจการงานราชการต่างๆ และคหบดีที่ออกไปสร้างที่อยู่อาศัยกว้างยังนอกเมือง และต่อมาก็มีการสร้างรถรางสายสีลมจากท่าเรือประตูน้ำสุดทางที่ถนนเจริญกรุงแถบโบสถ์อัสสัมชัญ
.
ย่านริมแม่น้ำตั้งแต่ถนนสี่พระยาเรื่อยมาทางทิศใต้ บริเวณนี้เป็นย่านที่มีท่าเรือมาจอดแต่เดิม ก่อนที่จะมีการสร้างท่าเรือคลองเตยที่สร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๙๐ จึงมีผู้คนหลากเชื้อชาติทั้งชาวตะวันออกและชาวตะวันตกเข้ามาอยู่อาศัย มี “โบสถ์อัสสัมชัญ” และสถานกงสุลต่างๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อยู่ใกล้ศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ มีการสร้าง “โรงภาษีร้อยชักสาม” หรือ “ศุลกสถาน” ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรมเจ้าท่า ธนาคาร บริษัทห้างร้านต่างๆ ส่วนฝั่งตรงข้ามคือย่าน “บางลำพูล่าง” หรือฝั่งคลองสาน วัดบุปผารามที่มีคลังสินค้าของชาวจีนและชุมชนดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างกรุงฯ จึงปรากฏความหลากหลายทางชาติพันธุ์ซึ่งเป็นคนในบังคับต่างประเทศจากรัฐอาณานิคม เช่น มาเก๊า ฮ่องกง ปัตตาเวีย (อินโดนีเซีย) มะละกา ปีนัง สิงคโปร์ มลายู อินเดีย เป็นต้น
.
ชาวตะวันตกส่วนใหญ่เป็นโปรตุเกส นอกจากนั้น คือ อังกฤษ เยอรมัน อิตาลีและอเมริกัน มีทั้งกงสุล พ่อค้า และผู้ประกาศศาสนาซึ่งในชุมชนมีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล วัด และสุสาน โดยแบ่งเป็นนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์
.
โดยนิกายโรมันคาทอลิกมีโบสถ์อยู่ในย่านใกล้เคียงถนนสีลมหลายแห่ง คือ โบสถ์อัสสัมชัญและโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งโบสถ์อัสสัมชันสร้างขึ้นครั้งแรกโดยคณะบาทหลวงชาวโปรตุเกสเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ ส่วนโรงเรียนอัสสัมชัญเป็นโรงเรียนคาธอลิคแห่งแรกที่สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ โบสถ์แม่พระลูกประคำหรือวัดกาลหว่าร์ที่ถนนเจริญกรุง และโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ซึ่งสร้างในที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและการบริจาคเงินสมทบจากบริษัทห้างร้านของชาวยุโรป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ และโบสถ์เซนต์หลุยส์ซึ่งสร้างภายหลัง เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่ถนนสาธรใต้ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ด้านถนนคอนแวนต์สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ มีสุสาน ๓ แห่งบนถนนสีลม
.
นิกายโปรเตสแตนต์มีโบสถ์อังกฤษหรือไครสต์เชิร์ช [Christ Church] ที่ถนนคอนแวนต์มุมถนนสาธร โบสถ์สืบสัมพันธวงศ์ บนถนนศรีเวียงของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน มีโรงเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนผดุงดรุณี
.
ชาวจีนที่ถนนสีลมน่าจะเป็นจีนในบังคับของชาวต่างประเทศไม่ใช่กลุ่มแบบเดียวกับทางสำเพ็ง มีการตั้งสมาคมตามกลุ่มภาษาเพื่อช่วยเหลือกัน มีการสร้างสุสานตามกลุ่ม และน่าจะมีมาก่อน พ.ศ. ๒๔๔๘ เช่น สุสานของจีนไหหลำ ของจีนกว่างตุ้ง ของจีนแคะ ที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดคือสุสานของจีนบาบ๋า
.
ย่านนี้ยังชาวมุสลิมที่มีอาชีพเลี้ยงโค เลี้ยงแพะอยู่อาศัยตามริมคลองซอยประดิษฐ์บนถนนสุรวงศ์ หรือซอยต่วนโสที่มีมัสยิดมีราซุดดีนอันเป็นมัสยิดของชุมชนยะวาหรือชวาที่เดินทางเข้ามาตั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๕๕ และบริหารด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวจึงไม่ได้จดทะเบียน มีชาวทมิฬนาดูจากอินเดียใต้ที่นับถือฮินดูสร้างวัดแขกหรือวัดศรีมหาอุมาเทวีซึ่งอยู่บริเวณมุมถนนปั้น รวมทั้งผู้ใช้แรงงานและรับจ้างที่เข้ามาเป็นแขกยาม คนขับรถ คนสวน พนักงานเก็บสตางค์บนรถราง และเสมียนในห้างฝรั่งและโรงภาษี รวมว่ามีชาวอินเดียและชาวมลายูในบังคับอังกฤษ ชาวลังกาในบังคับฝรั่งเศส และชาวยะวาหรือชวาในบังคับฮอลันดา
.
ต่อมาบริเวณนี้มีเขตการปกครองเรียกว่าอำเภอบางรักตั้งขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๕๐ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ พื้นที่ย่านธุรกิจของชาวต่างประเทศที่เคยใช้บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางย่านบางรักก็ขยับขยายมาดำเนินกิจการบนถนนสีลมมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้รื้อรางรถรางและถมคลองสีลมเพิ่มพื้นที่การจราจรเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๖ ทำให้ถนนสีลมกลายเป็นถนนที่มีขนาดกว้างขวางกว่าถนนธุรกิจสายอื่นในละแวกเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นถนนสุรวงศ์หรือถนนสี่พระยาและสามารถเชื่อมระหว่างถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจเก่าแก่กับย่านประตูน้ำและศูนย์การค้าแถบราชประสงค์ซึ่งเป็นย่านการค้าใหม่ในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๕ ถนนสีลมเติบโตเรื่อยมาจนกลายเป็นศูนย์กลางการเงินตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา
.....
#พระนคร๑๐๑
#สยามเทศะโดยมูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
.
**มีการแก้ไขภาพ